ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) เป็นระบบดับเพลิงที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลิงไหม้ได้ดีมาก ดังนั้นในบทความนี้จะขอคร่าวถึงระบบการดับเพลิงชนิดนี้อีกครั้งหนึ่งซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้วซึ่งท่านผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ในบทความเรื่อง “ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติคืออะไร” ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งใช้กันแพร่หลายทั่วโลก เนื่องจากสามารถควบคุมเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นได้ทันทีขณะที่เพลิงยังมีขนาดเล็ก ทำให้เพลิงไหม้หยุดการขยายตัวลุกลาม การเกิดควันไฟก็น้อยลงและเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัด

ประเภทของหัวกระจายน้ำดับเพลิง

หัวกระจายน้ำดับเพลิงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ตามประเภทของการตรวจจับความร้อน (Heat Sensing Element) ที่หัวกระจายน้ำดับเพลิง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นแบบโลหะ (Fusible Element)และแบบกระเปาะแก้ว (Glass Bulb) โดยในการตรวจจับความร้อนของแต่ละประเภทนั้น จะมีการกำหนดอุณหภูมิการทำงานของหัวกระจายน้ำดับเพลิงระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการเลือกใช้งานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน

1.หัวกระจายน้ำดับเพลิงแบบโลหะ

2.หัวกระจายน้ำดับเพลิงแบบกระเปาะแก้ว

สำหรับการแบ่งลักษณะการติดตั้ง (Orientation Type) ของหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ แบบคว่ำ (Pendent Type) และแบบตั้ง (Upright Type)ซึ่งหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นมีการติดตั้งได้หลายแบบ เช่น แบบฉีดกำแพง (Side Wall Type) เป็นต้น

การจัดแบ่งประเภทความเสี่ยงภัยของพื้นที่

การแบ่งประเภทความเสี่ยงภัยของพื้นที่สำหรับระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้นสามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้

พื้นที่ความเสี่ยงภัยต่ำ (Light Hazard Occupancies)

พื้นที่ความเสี่ยงภัยปานกลาง (Ordinary Hazard Occupancies)

พื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง (Extra Hazard Occupancies)

พื้นที่ความเสี่ยงภัยต่ำ

พื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยด้านอัคคีภัยต่ำนั้น จะมีปริมาณเชื้อเพลิงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีตัวอย่างของพื้นที่ เช่น

1) อาคารพักอาศัย

2) สำนักงานทั่วไป รวมถึงห้องคอมพิวเตอร์

3) สโมสร

4) โรงพยาบาล

พื้นที่ความเสี่ยงภัยปานกลาง

พื้นที่กลุ่มนี้จะมีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับของเหลวติดไฟ (CombustibleLiquid) หรือของเหลวติดไฟ (Flammable Liquid)ในปริมาณไม่มากจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) พื้นที่ความเสี่ยงภัยปานกลาง กลุ่มที่ 1 เช่น

1.1 พื้นที่ที่จอดรถและแสดงรถยนต์

1.2 โรงงานผลิตภัณฑ์ที่เป็นแก้ว

1.3 โรงซักรีด

1.4 โรงงานผลิตอาหารบรรจุกระป๋อง

1.5 โรงงานผลิตอาหารเพื่อการบริโภค

1.6 โรงงานทำขนมปัง

1.7 โรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์

1.8 โรงงานผลิตเครื่องดื่ม

2) พื้นที่ความเสี่ยงภัยปานกลาง กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการติดไฟมากกว่ากลุ่มที่ 1 เช่น

2.1 โรงงานสิ่งทอ

2.2 โรงงานยาสูบ

2.3 โรงงานสิ่งพิมพ์

2.4 โรงงานสารเคมี

2.5 โรงสีข้าว

2.6 โรงงานผลิตยางรถยนต์

2.7 โรงานแปรรูปไม้

2.8 โรงงานผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ

2.9 โรงงานผลิตอาหารสัตว์

พื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง

พื้นที่กลุ่มนี้จะมีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับของเหลวติดไฟ (Combustible Liquid) หรือของเหลวติดไฟ (Flammable Liquid)ในปริมาณมากจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1) พื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง กลุ่ม 1 เช่น

1.1 โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง

1.2 โรงพิมพ์ (ที่มีการใช้หมึกพิมพ์ ที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.9 องศาเซลเซียส)

1.3 โรงงานผลิตไม้อัดและไม้แผ่น

1.4 โรงงานฟอกย้อม ปั่นฝ้าย เส้นใยสังเคราะห์ และฟอกขนสัตว์

1.5 โรงหล่อด้วยแบบโลหะ

2) พื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดการติดไฟสูงมากกว่ากลุ่มที่ 1 เช่น

2.1 โรงงานผลิตยางมะตอย

2.2 โรงพ่นสี

2.3 โรงกลั่นน้ำมัน

2.4 โรงงานผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่อง

2.5 โรงชุบโลหะที่ใช้น้ำมัน

2.6 โรงงานพลาสติก

2.7 พื้นที่ล้างโลหะด้วยสารละลาย

การติดตั้งหัวกระจายน้ำดับเพลิง

ในการติดตั้งหัวกระจายน้ำดับเพลิงนั้น จะต้องทำการตรวจสอบโครงสร้างเพดานของพื้นที่ที่ต้องการป้องกันด้วยหัวกระจายน้ำดับเพลิง เพื่อทำการระบุพื้นที่ครอบคลุมการทำงานของหัวกระจายน้ำดับเพลิงได้อย่างถูกต้อง